สิทธิเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
มาตรา 25 ภายใต้บังคับมาตรา 14 และมาตรา 15 บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน และเมื่อบุคคลนั้นมีคำขอเป็นหนังสือ หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องให้บุคคลนั้นหรือผู้กระทำการแทนนั้นได้ตรวจดูหรือได้รับสำเนาข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลนั้น และให้นำมาตรา 9 วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม
การเปิดเผยรายงานการแพทย์ที่เกี่ยวกับบุคคลใด ถ้ากรณีมีเหตุอัรควรเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเปิดเผยต่อเฉพาะแพทย์ที่บุคคลนั้นมอบหมายก็ได้
ถ้าบุคคลใดเห็นว่าข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนส่วนใดไม่ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้มีสิทธิยื่นคำขอเป็นหนังสือให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารนั้นได้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาคำขอดังกล่าว และแจ้งให้บุคคลนั้นทราบโดยไม่ชักช้า
ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารให้ตรงตามที่มีคำขอ ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมุลข่าวสารภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำสั่งไม่ยินยอมแก้ไขเปลี่ยนหรือลบข้อมูลข่าวสาร โดยยื่นคำอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ และไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิร้องขอให้หน่วยงานของรัฐหมายเหตุคำขอของตนแนบไว้กับข้อมุลข่าวสารส่วนที่เกี่ยวข้องได้
ให้บุคคลตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีสิทะิดำเนินการตามมาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรานี้แทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือเจ้าของข้อมูลที่ถึงแก่กรรมแล้วได้
สิทธิการร้องเรียน
1. การร้องเรียนตามมาตรา 13 หากผู้ใดเห็นว่าหน่วยงานของรัฐ
1) ไม่ส่งข้อมูลข่าวสารตามมาตรา 7 และมาตรา 23 (3) ไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา
2) ไม่จัดข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเข้าตรวจดู ตามมาตรา 9
3) ปฏิบัติงานล่าช้าในการพิจารณาให้ข้อมูลข่าวสารหรือเพิกเฉย
4) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
5) ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี
2. การร้องเรียนตามมาตรา 33 กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลข่าวสารที่มีคำขอนั้นแต่ผู้ขอไม่เชื่อว่าเป็นความจริง
1) หากประชาชนเห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามมาตรา 13 ไม่ว่าตนเองจะได้รับผลกระทบหรือไม่ก็ตาม สามารถร้องเรียนต่อ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการได้
2) การร้องเรียนให้ทำเป็นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการหรือผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กทม. 10300 ในหนังสือร้องเรียนควรแจ้งหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับเพื่อการประสานงานไว้ด้วย
3) การร้องเรียนไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น
สิทธิการอุทธรณ์
1. สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 18 จากกรณีที่
1) หน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอตรวจดูหรือขอสำเนาหรือสำเนาพร้อมคำรับรองความถูกต้อง
2) หน่วยงานของรัฐไม่รับฟังคำคัดค้านโดยจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอ
2. สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 กรณีหน่วยงานของรัฐปฏิเสธไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือลบข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคล
1) ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการด้วยเหตุดังกล่าว
2) การอุทธรณ์ให้ทำเป็นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการโดยแนบสำเนาหลักฐานไปด้วย
3) ส่งหนังสือไปที่ประธานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กทม. 10300
4) การอุทธรณ์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น
สิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ได้เสียของตนเอง
- ประชาชนมีสิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตน โดยทำหนังสือถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง
- กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งไม่รับฟังคำคัดค้าน ประชาชนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันได้รับคำสั่ง
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ กรมส่งเสริมสหกรณ์
อาคาร 1 (ชั้น 1) กรมส่งเสริมสหกรณ์
เลขที่ 12 ถ.กรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
โทรศัพท์ 0-2281-8621,0-2281-5519 และ 0-2281-1900 , 0-2282-2922 ต่อ 609,610
โทรสาร 0-2281-0004 , 0-2281-8621
Copyright © 2023 ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ กรมส่งเสริมสหกรณ์